9 August, 2021 : By Admin Web3



 

การก่อสร้างควรเปลี่ยนมาใช้ BIM

 

 

  ปัจจุบัน BIM (building information modeling) หรือกระบวนการจำลองการก่อสร้างและบริหารการก่อสร้างในรูปแบบข้อมูล digital มีลักษณะคล้ายการเขียนโมเดล 3 มิติ ที่มีการฝังข้อมูลเข้าไปในโมเดล กระบวนการ BIM กำลังนิยมในต่างประเทศ ทั้งอเมริกา ยุโรป ออสเตรเลีย เกาหลี สิงคโปร์ และญี่ปุ่น ขณะนี้เริ่มนำมาใช้ในประเทศไทย เนื่องจากมีหลายองค์กร โดยเฉพาะวงการอสังหาริมทรัพย์ (คอนโดมิเนียม) เล็งเห็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นจาก BIM ซึ่งเกิดขึ้นกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการก่อสร้าง ดังนี้

 

 

1.ผู้ออกแบบ (designer)

  ถือเป็นต้นน้ำของอุตสาหกรรมการก่อสร้าง ปัจจุบันการออกแบบส่วนใหญ่ในไทยทำด้วยเครื่องมือ CAD (computer-aided design) ซึ่งมี ข้อดี คือสามารถทำงานได้อย่างรวดเร็ว แต่มี ข้อเสีย คือไม่สามารถแสดงรายละเอียดที่ครบถ้วน บ่อยครั้งการออกแบบด้วย CAD เกิดความผิดพลาดจากความขัดแย้งของแบบ เนื่องจากไม่สามารถบูรณาการ งานโครงสร้าง งานสถาปัตยกรรม งานระบบไฟฟ้าเครื่องกล สุขาภิบาล เข้าด้วยกันอย่างสมบูรณ์ และไม่สามารถแสดงผลในรูป 3 มิติ ที่จะทำให้เห็นความขัดแย้งที่ชัดเจนได้

 

  ปัญหาดังกล่าวจึงมักจบด้วยการที่เจ้าของโครงการมาพบในภายหลังว่า การออกแบบนั้นไม่สามารถก่อสร้างได้จริง ทำให้โครงการอาจล่าช้าและใช้งบประมาณเพิ่ม นำไปสู่การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย หรือต้องแก้ไขแบบภายหลังจากที่ส่งงานไปแล้ว ส่งผลให้ต้นทุนการทำงานของผู้ออกแบบบานปลาย นำไปสู่การขาดทุนขององค์กร

 

2.ผู้รับเหมา (general contractor)

  ในช่วงเวลาการก่อสร้าง ผู้รับเหมาสามารถนำ BIM มาช่วยตรวจสอบความขัดแย้งของแบบ ซึ่งช่วยลดความสูญเสียจากความผิดพลาดในการทำงาน เช่น การรื้องานก่อสร้างแล้วทำใหม่ รวมถึง BIM ยังสามารถถอดปริมาณวัสดุได้อย่างแม่นยำ ทำให้สามารถควบคุมเวลาและงบประมาณการก่อสร้างได้ดี นอกจากนี้ BIM ยังช่วยผลิตแบบหน้างาน (shop drawing) และแบบก่อสร้างจริง (as-built drawing) ที่มีลักษณะเป็น 2 มิติ โดยออกมาจากโมเดล 3 มิติได้ด้วย จึงเรียกได้ว่ากระบวนการ BIM ช่วยลดการทำงานที่ซ้ำซ้อนได้

 

3.เจ้าของงาน (owner)

  ได้รับประโยชน์สูงสุด เนื่องจากช่วยควบคุมค่าใช้จ่ายและประหยัดค่าก่อสร้างได้ แต่ในความเป็นจริง ผู้ที่ได้ประโยชน์จาก BIM สูงสุดนั้นเป็นเจ้าของโครงการ เนื่องจากการก่อสร้างโครงการอาจใช้เวลาประมาณ 2 ปี แต่หลังจากการก่อสร้างแล้วเสร็จ การบริหารจัดการรวมถึงการบำรุงรักษาอาคารตลอดอายุการใช้งานที่อาจยาวนานถึง 60 ปีได้มีการประมาณการทางทฤษฎีว่า หากเจ้าของงานได้รับ แบบก่อสร้างจริง (as-built drawing) ในลักษณะที่เป็น BIM model จะช่วยให้เจ้าของอาคารเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการอาคารและทรัพย์สิน (facility management) เช่น ใช้คนดูแลอาคารน้อยลง สามารถประหยัดค่าดำเนินการในทุก ๆ ปี ซึ่งตัวเงินที่ประหยัดได้อาจสูงกว่ามูลค่าการก่อสร้างอาคารอีก จึงเรียกได้ว่าหากมีการใช้ BIM ตั้งแต่ต้นจนจบ ก็เหมือนได้อาคารมาฟรี ๆถึงแม้ว่ากระบวนการ BIM จะเป็นประโยชน์กับทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมการก่อสร้าง แต่ในการเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงมาใช้ BIM นั้น หลายองค์กรจะพบกับความยากลำบากอันเกิดจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในระยะสั้น ทั้งด้านของบุคลากรที่ต้องอบรมเพิ่มเติม ระบบคอมพิวเตอร์ จนเกิดอาการถอดใจ

 

  แต่ในระยะยาว มีการพิสูจน์ในต่างประเทศแล้วว่า องค์กรต่าง ๆ จะได้ประโยชน์กลับมาอย่างคุ้มค่ากับส่วนที่ได้ลงทุนไป แนวโน้มของอุตสาหกรรมการก่อสร้างของโลกจะเปลี่ยนจาก CAD ไปเป็นBIM อย่างแน่นอน เหมือนในอดีตที่เปลี่ยนจากการเขียนแบบด้วยมือไปเป็น CAD

 

  สำหรับแนวโน้มในประเทศไทย ปีนี้ (2561) น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็น BIM มากขึ้น ดังเห็นได้จากในแวดวงการก่อสร้าง มีการจัดทำคู่มือ, มาตรฐาน และให้ความรู้เกี่ยวกับ BIM จากองค์กรต่าง ๆ เช่น สมาคมสถาปนิกสยาม, สภาวิศวกร, วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย, Open Source BIM Thailand ที่พยายามทำให้เกิดมาตรฐานกระบวนการ BIM ในไทยให้ไปในทิศทางเดียวกัน และขยายวงผู้ใช้ BIM ให้กว้างขึ้น

 

  นอกจากนี้ยังพบว่าสถาบันการศึกษาหลายแห่งสอนเรื่อง BIM ขั้นพื้นฐาน ในหลักสูตรปริญญาตรี และ BIM ขั้นสูง ในหลักสูตรปริญญาโท เพื่อสร้างบุคลากรด้าน BIM ให้สอดคล้องกับแนวโน้มของอุตสาหกรรมก่อสร้างในอนาคตในส่วนของผู้ผลิตซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวกับ BIM ก็สนับสนุนภาคการศึกษาให้นักศึกษาใช้โปรแกรมที่เกี่ยวกับ BIM ฟรี ตลอดเวลาที่เรียนอยู่ ช่วยให้นักศึกษาคุ้นเคยกับโปรแกรมต่าง ๆ ทุกคนสามารถเข้าถึงการเรียนออนไลน์ที่ผู้ผลิตซอฟต์แวร์จัดเตรียมไว้ ช่วยพัฒนาฝีมือให้พร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงานเมื่อจบการศึกษา นอกจากนี้ทางผู้ผลิตซอฟต์แวร์ด้าน BIM ยังเปิดให้สอบวัดระดับความสามารถ ผู้ที่สอบผ่านจะได้ใบประกาศนียบัตรที่แสดงว่ามีความสามารถด้าน BIM ตามมาตรฐาน

 

  ในส่วนของเจ้าของงานนั้น ในปีที่แล้ว มีการกำหนดให้ใช้กระบวนการ BIM ในการก่อสร้าง ทั้งในภาคเอกชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานคอนโดมิเนียม และเริ่มนำมาใช้ในงานภาครัฐ เช่น โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 เป็นต้น คาดว่างานทั้งภาครัฐและเอกชนในปีนี้ จะกำหนดให้ใช้กระบวนการ BIM มากขึ้น ทั้งในการออกแบบ และการก่อสร้าง

 

  ดังนั้น วงการอุตสาหกรรมก่อสร้างในไทยควรเปลี่ยนไปใช้กระบวนการ BIM เพื่อประโยชน์สูงสุด ควรมีการใช้กระบวนการ BIM ครบวงจร ตั้งแต่ผู้ออกแบบ ผู้รับเหมา และเจ้าของงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ลดการสูญเสีย สามารถควบคุมงบประมาณ เวลา และคุณภาพได้ดียิ่งขึ้น สอดคล้องนโยบาย ไทยแลนด์ 4.0 นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มที่ชัดเจนว่า ในอนาคตอันใกล้กระบวนการ BIM จะกลายมาเป็นมาตรฐานของการก่อสร้าง แทนที่ CAD ทั้งในเวทีสากล และในไทย ซึ่งในภาคการศึกษาได้เริ่มผลิตบุคลากรด้าน BIM สนับสนุนตลาดแรงงานแล้ว

 

  หากองค์กรใดไม่ปรับตัว อาจทำให้สูญเสียฐานลูกค้าและความสามารถในการแข่งขันธุรกิจ หากองค์กรสามารถปรับเปลี่ยนมาใช้กระบวนการ BIM ได้เร็วเท่าไหร่ ก็น่าจะได้เปรียบทางธุรกิจเร็วมากเท่านั้น

 










เลือกดูสินค้าได้ที่นี่ >>>  Autodesk, AutoCAD

สอบถามรายละเอียดโปรแกรมเพิ่มเติมได้ที่ 02-725-6400 , 084-424-2428

 

Tags : BIM, Building Information Modeling, การเขียนโมเดล 3 มิติ, ผู้ออกแบบ (designer), ผู้รับเหมา (general contractor), เจ้าของงาน (owner), RentalConferance, อาคารและทรัพย์สิน (facility management), แบบก่อสร้างจริง (as-built drawing), CAD, Open Source BIM Thailand